วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553

[กลอน] พระทรมาน



ศาลข้างใน ใส่คนแน่น แสนขนัด

แซ่ตวัด ซัดตัวหวั่น สั่นตัวไหว

ฟัดลอยปาด ฟาดหลังปุบ ฟุบลงไป

ป้ายหยดเลือด เป็นหยาดไหล ไปยังลาน



ร่าลั่นกรวบ รวบลงเกรี้ยว เรี่ยวลงกราด

แส้ดูฉาด สาดโดนชุด สุดแดงฉาน

ส่อลวดลาย ส่ายลึกลั่น สั่นลนลาน

ทนสุดต้าน ทานสั่นตุก ทุกส่วนตอน



โน้มก้มค้อม น้อมกางเขน เน้นกับแขน

ซึมเลือดอาบ ซาบหลังแอ่น แสนล้าอ่อน

สุดลุกร่าย ส่ายล้มรุด ทรุดลงรอด

คลุกฝุ่นนอน คลอนฝืนนั่ง คลั่งแฝงใน



ตั้งเขากอก ตอกแขนกาง ต่างขึงก่อ

กั้นเข่าย่อ ก่อขาย่าง กางเขนใหญ่

ร้อนทุกข์พาง ร่างทุกพับ รับโทษภัย

ลบบาปเหือด เลือดบุตรให้ . . . เพื่อไถ่โลกของเรา




พระคริสตเยซู . . . ทรงเมตตาเทอญ

[ชวนคิด] ท้อ

บทความโดย antoinetty*



คุณเคยนั่งถอนหายใจยาวๆไหม ?

ถอนให้ยาวที่สุด

ระบายความเหนื่อยยาก ความลำบาก

ความสิ้นหวังและความท้อแท้

มาพร้อมกับลมหายใจนั้น

ถอนหายใจเท่าไหร่

ความรู้สึกเหล่านั้นก็ไม่หมดไปเสียที

แล้วทำอย่างไร ถึงจะสลัดความรู้สึกเหล่านี้ได้ ?



ความรู้สึกท้อเป็นความรู้สึกพื้นฐานของหลายๆ คน

ที่สามารถสัมผัสความรู้สึกนี้ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำงานแล้ว

" จะทำได้เหรอ ? "

" เหย เว่อไปมั้ย ? "

" ไม่ดีหรอกมั้ง ? "

" ใครเค้าจะมา ? "

ที่สุด ความดันทุรังก็เอาชนะความท้อขั้นต้นนี้ไปได้



จนกระทั่ง เริ่มลงมือ

" ทำไมวันนี้ไม่มีคนมาเลย ? "

" รถติดอย่างนี้ ไปไม่ทันแน่ๆ "

" ไม่เห็นขยับสักที นี่จะชั่วโมงนึงแล้วนะ "

" โดนด่าแน่เลย คอยดูสิ "

" ตายตายตาย ตายแน่ "

" . . . "

.

.

.

" ลองสวดขอพระดูสิ "


.

.

.


สุดท้าย

ทุกอย่างก็ผ่านไปได้

ความท้อ เปลี่ยนเป็นความภูมิใจ

ที่ผลงานชิ้นหนึ่งสำเร็จลงได้ด้วยดี



หลายๆครั้ง เรามัวแต่ยุ่งวุ่นวาย

กังวลใจ ท้อใจ

ไปกับสิ่งต่างๆ รอบตัว

จน ลืม

สิ่งที่เราเป็น

[ชวนคิด] ตบหน้า

บทความโดย มารีอา


มัทธิว 5 : 39

"ฝ่ายเราบอกท่านว่า อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน

ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย"


เคยไหม...ที่บางครั้ง เราถูกท้าทายให้ระเบิดอารมณ์กับอะไรสักอย่าง


เป็นต้นว่า อยู่ดี ๆ ก็ถูกใครก็ไม่รู้ว่ากล่าวเสีย ๆ หาย กับเรื่องที่เราไม่ได้ทำผิด


หรือได้รับการดูถูกอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งที่ฝ่ายเรานั้นทำในสิ่งที่ดีและสูงส่งกว่า


หรือถูกหาเรื่องเพียงเพราะว่าหมั่นไส้


ตามสัญชาตญาณมนุษย์ ซึ่งไม่ต่างไปจากสัตว์เท่าไหร่


ก็มักจะตอบโต้เพื่อปกป้องและป้องกันตัวเองจาก "ศัตรู" เป็นธรรมดา


วิธีการดังกล่าว เป็นระบบที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์


และมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยบาบิโลเนีย

ในประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี


หรือที่รู้จักกันง่าย ๆ ว่า "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน"


ว่าแต่คุณรู้ไหม...วิธีการดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้ "ปัญหา" ลดลงไปเลย


เมื่อเขาทำร้ายคุณ คุณก็ทำร้ายเขาคืน


เขาก็จะย้อนกลับมาทำร้ายคุณกลับอีกครั้ง


วนเวียนเช่นนี้ไม่จบไม่สิ้น อย่างที่ทางพุทธใช้คำว่า "กงกำกงเกวียน" นั่นเอง


แล้วทำไม...เราถึงไม่ทำให้ปัญหามัน "จบสิ้นอย่างถอนรากถอนโคน" ไปเสียเลยล่ะ?


เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว พระเยซูเจ้าทรงตรัสสอนว่า


"ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย"


อุปมานี้ ความว่า ให้เรารู้จักอดทนอดกลั้น ไม่ทำตามอารมณ์


แม้เขาจะตบหน้าเราข้างหนึ่ง ก็ให้เขาตบอีกข้างหนึ่งด้วยจนเขาสาแก่ใจ


(ดูสิว่า จะมีมโนธรรมแค่ไหน ถ้าตบอีกข้างก็...นะ สุดจะบรรยาย)


เพราะเมื่อเขาได้กระทำเราจนพอใจแล้ว ก็จะเลิกลาไปเอง ไม่หวนกลับมาทำร้ายอีก


(กลับมาอีกรอบก็จิตใจชั่วเกินไปแล้ว)

ฟังดู...ช่างฝืนธรรมชาติเสียจริง


แต่ถ้าหากเราทำได้ นั่นหมายถึงเราได้กระทำสิ่งที่ดีงาม 3 ประการเลยนะ


ซึ่งได้แก่ ความอดทนอดกลั้น การให้อภัย และการมีเมตตาไม่ทำร้ายผู้อื่น(กลับ)


และในทางตรงกันข้าม หากเรายังคงใช้กฎตาต่อตา ฟันต่อฟัน ต่อไป


เราก็จะกลายเป็นคนในยุคเก่า ๆ ที่ความเจริญทางจิตใจยังไม่มากพอ


กลายเป็นคนที่ชอบใช้กำลัง ไม่มีความอดทน ไม่รู้จักการให้อภัย และไร้เมตตา


คิดดูสิว่า...ใครล่ะ อยากจะคบเรา

[ชวนคิด] ความรักนั้นก็อดทน

บทความโดย มารีอา


"ความรักนั้นก็อดทน..." 1 โครินธ์ 13 : 4

พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเป็นที่โปรดปรานของใครต่อใคร


แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะรู้ว่า ประโยคแรกของพระคัมภีร์ข้อนี้ มีความหมายอย่างไรกันแน่

"ความรักนั้นก็อดทน" ...ฟังแล้วดูแย่และยากลำบากเหลือเกิน


มีคนเคยบอกฉันว่า "ถ้ารักแล้วต้องอดทน ก็อย่ารักเลยดีกว่า"


เขาอธิบายว่า "คนที่รักกัน ไม่จำเป็นต้องอดทนซึ่งกันและกัน เพราะมันดูเหมือนเป็นการฝืน


คนที่รักกันควรที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสบาย ๆ ไม่ถือตัว ไม่มีทิฐิ ไม่ต้องอดทน


เมื่อมีเหตุขัดข้องใจ ก็ให้พูดกันตรง ๆ ไม่ต้องอดทน เพราะความอดทนจะทำให้เราอึดอัดใจ


และสุดท้าย มันก็จะทำลายความรักของเรา"


แต่ฉันเชื่อว่า...คำว่า "อดทน" ในพระคัมภีร์ข้อนี้ ไม่ได้หมายความอย่างข้างบนแน่นอน


ถึงแม้ว่า...ฉันจะไม่เคยเรียนคำสอนในระบบเลยก็ตาม...


สำหรับฉัน คนที่รักกันต้องมีความอดทนอย่างมากมาย


เนื่องจากคนเราแตกต่างกัน และน้อยมากที่คนเราจะชอบความเป็นตัวตนของคนรักไปทุกอย่าง


มันก็ต้องมีบ้าง อย่างน้อยหนึ่งประการที่เรารู้สึกไม่ชอบ...เพราะคนเราแตกต่าง


คนที่เป็นคู่รัก ความไม่ชอบในซึ่งกันและกันนั้นคงมีปริมาณน้อยกว่าแน่นอน


แต่เราก็ต้องยอมรับว่า บางทีเราก็ไม่สามารถแก้ไขคนอื่นให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้


แม้จะด้วยอานุภาพของความรักก็ตาม...ด้วยเหตุนี้ รักจึงต้อง "อดทน"


ความอดทนจะทำให้เราไม่ตำหนิติเตียนคนรักให้เสียใจ


เพราะบางครั้ง สิ่งที่เราติเตียนนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แก้ไขไม่ได้ แต่เราเพียง "ไม่ชอบ"


ความอดทนจะทำให้เราต่างก็รักษาตัวตนอันแท้จริงเอาไว้


ให้เรารักคน ๆ นั้น ในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่เราอยากจะให้เป็น


ไม่ต้องเสแสร้ง ทำมารยาใด ๆ ที่จะทำให้ความบริสุทธิ์ของความรักเสื่อมเสียไป


รักจึงอดทน...อดทนต่อความไม่ชอบอันน้อยนิด และอดทนอย่างมีเหตุผล


เพื่อให้ความรักอันยิ่งใหญ่...ได้คงอยู่และสวยงามต่อไป

[ชวนคิด] เคยไหม

เคยไหม ?
บทความโดย มารีอา


เคยไหม? เวลาที่ไปเข้าวัดแล้วไม่ได้สนใจพระเจ้า

เฝ้าแต่มองว่าวัดสวยหรือไม่อย่างไร มองว่าดอกไม้เป็นอย่างไร


ติเตียนคนที่มาวัดสาย ๆ ทำให้รบกวนสมาธิผู้อื่นอย่างไร


หรือเคยไหมเวลาที่เห็นคนอื่นทำผิดสักอย่าง


ก็คิดเอาในใจ หรือพูดออกไปว่า ทำแบบนี้ ไม่ถูกนะ


ลองคิดทบทวนดูสิ ทุกคนเคยทำอะไรทำนองนี้กันใช่ไหม


ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่แปลกหรอกที่จะเคย


เพราะการเปรียบเทียบและการตัดสินมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์


มนุษย์เรามักชอบเปรียบเทียบสิ่งใกล้ตัวกับมาตรฐานของตนเองอยู่เสมอ


ว่าแต่...เราเคยคิดหรือไม่ว่า มาตรฐาน


หรือ การตัดสินของเรานั้น เที่ยงตรงจริง ๆ น่ะหรือ


แน่ใจหรือว่า ไม่ใช่การเข้าข้างตัวเอง แน่ใจหรือว่า เราตัดสินถูกต้องแล้ว


และแน่ใจหรือเปล่าว่า นั่นเป็น...หน้าที่ของเรา


ลองคิดทบทวนดูอีกครั้ง ยังจำได้ไหม


ครั้งหนึ่ง พระเยซูเจ้าถูกพวกธรรมาจารย์และฟาริสี


บังคับให้ตัดสินหญิงที่ทำผิดประเวณีคนหนึ่ง


จำได้ไหมว่าพระองค์ทำอย่างไร


วันนั้นพระเยซูเจ้าทรงนิ่งเฉย ครั้นเมื่อพวกเขาถามย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ


พระองค์ก็ตรัสว่า ท่านผู้ใดไม่มีบาป จงเอาหินทุ่มนางเป็นคนแรกเถิด


สุดท้ายก็ไม่มีใครเอาหินทุ่มเธอคนนั้นเลย


เพราะอะไรน่ะหรือ


เพราะพระองค์ทรงรักมนุษย์ทุกคน แม้คน ๆ นั้นจะทำผิดบาปก็ตาม


พระองค์ไม่อยากตัดสินลงโทษคน ๆ หนึ่งเพื่อให้คนอื่น ๆ รู้สึกดี


เพราะพระองค์รู้ว่าถ้าหากเรามนุษย์ผู้มีบาปและไม่เที่ยงตรง


เมื่อตัดสินมนุษย์คนอื่นแล้ว


ก็ย่อมรู้สึกยินดีกับตนเอง รักและเข้าข้างตนเองมากยิ่งขึ้น


ขณะเดียวกันก็ชิงชังผู้ที่ทำตรงข้ามกับตนมากขึ้นไปด้วย


แย่ยิ่งกว่านั้นเมื่อสาแก่ใจแล้วก็คงจะทำซ้ำ ๆ อีกเรื่อยไป


ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนเราทั้งหลายว่าซ้ำ ๆ ว่า


อย่าตัดสินผู้อื่น และ จงรักซึ่งกันและกัน


และพระองค์ก็ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีเสมอมา


นั่นคือ การยอมถูกตรึงกางเขนเพราะความรักที่พระองค์มีต่อมนุษย์


และปรารถนาให้ความรักของพระองค์


ถ่ายทอดต่อไประหว่างมนุษย์ทั้งหลาย


แล้วพวกเราล่ะ


พวกเราที่พูดว่ารักพระองค์ เคยไหมที่จะหยุดเปรียบเทียบและตัดสินผู้อื่น


เคยไหมที่จะรักและเสียสละตนเองให้ผู้อื่นได้


เคยไหมที่จะทำตามพระผู้ทรงเป็นตัวอย่างที่แสนดีของเรา?

[สมาชิก] คพ.วิทยา คู่วิรัตน์



คุณพ่อยอห์น บอสโกวิทยา คู่วิรัตน์

จิตตาธิการชมรมคาทอลิก จุฬาฯ


วัน เดือน ปี เกิด 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956
ในครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน คุณพ่อเป็นบุตรคนที่ 6

การศึกษา
- เรียนที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษา เป็นเวลา 2 ปี จบชั้นอนุบาล

- ปี ค.ศ. 1962-1973 เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
ตั้งแต่ชั้นเตรียมประถม ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

- ปี ค.ศ. 1973-1975 เรียนที่โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ สามพราน
ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 5

- ปี ค.ศ. 1975-1976 ศึกษาชีวิตการเป็นเณรที่บ้านเณรกลาง
(เวลานั้นอยู่ที่บ้านเณรเล็กยอแซฟ สามพราน)

- ปี ค.ศ. 1976-1983 เรียนที่วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน
จบปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาปรัชญา
และศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาเทววิทยา

- ปี ค.ศ. 1985-1987 เรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จบปริญญาโท

- ปี ค.ศ. 1990-1992 เรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จบปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา

การบวช
- สมัครเข้าบ้านเณร ค.ศ. 1973

- ผู้ส่งเข้าบ้านเณร คุณพ่อยอร์ช มังซุย
ในนามของวัดเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ

- เหตุผลในการสมัครเข้าบ้านเณร
เนื่องจากเป็นเด็กช่วยมิสซาที่อารามคาร์แมลตั้งแต่เล็กๆ
ได้เห็นแบบอย่างที่ดีของบรรดา บราเดอร์ ซิสเตอร์ พระสงฆ์
หลายองค์ที่ประทับใจมาก และอยากจะเป็นพระสงฆ์เหมือนท่านเหล่านั้น

-ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์

- ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพิธีกรรม
วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1981 ที่ วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน
โดย พระสังฆราชยอแซฟ เอก ทับปิง ประมุขสังฆมณฑลราชบุรี

- ได้รับศีลบวชขั้นสังฆานุกร
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1982 ที่ วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน
โดย พระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

- ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์
วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1983 ที่ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน นครปฐม
โดย พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ


การปฏิบัติงาน
หน้าที่ประจำ
8 เม.ย. 1983 - 10 มิ.ย. 1984 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน
10 มิ.ย. 1984 - 11 พ.ค. 1987 เลขานุการพระคาร์ดินัล ประจำสำนักมิสซังฯ
11 พ.ค. 1987 - 1 ก.ค. 1990 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์
1 ก.ค. 1990 - 15 พ.ค. 1992 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแม่พระฟาติมา ดินแดง
ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านการบริหารการศึกษาที่จฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15 พ.ค. 1992 - คณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาปรัชญา วิทยาลัยแสงธรรม
15 พ.ค. 1992 - 1 พ.ค. 1993 พักประจำที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน
1 พ.ค. 1993 - อาจารย์ประจำและพักที่วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน
20 ก.ค. 1996 - อธิการวิทยาลัยแสงธรรม สามพราน
2009 - เจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส กุฎีจีน

หน้าที่พิเศษ
10 มิ.ย. 1984 - 11 พ.ค. 1987 จิตตาธิการโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
1 พ.ค. 1994 - 2009 จิตตาธิการอารามกลาริสกาปูชิน สามพราน

-คติประจำใจ ชีวิตคือการให้ มิใช่แต่รับ



( ขอบคุณข้อมูลจาก อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ http://www.catholic.or.th )


[สมาชิก] สิริมาศ สกุลกันย์



อัญจลา สิริมาศ สกุลกันย์ (พี่ทราย)

อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ รหัส 48

อดีตรองประธานชมรม ปีการศึกษา 2550

ปัจจุบันผู้ประสานงานศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย

พี่ทรายเป็นสัตบุรุษวัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี

จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนราชินี

และเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ

พี่ทรายเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวคาทอลิกจุฬาตั้งแต่ปี 1

เป็นเลขานุการตอนปี 2 รองประธานชมรมตอนปี 3

และที่ปรึกษาตอนปี 4

แม้จะจบจากรั้วจุฬาไปแล้ว แต่พี่ทรายก็แวะมาเยี่ยมเยียนน้องๆอยู่เสมอๆ

ปัจจุบันพี่ทรายทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานศูนย์กลางฯ

หรือ บ้านเซเวียร์ ที่อนุสาวรีย์ฯ

ทำงานร่วมกับคุณพ่อมหาร์และพี่นริศ จิตตาธิการศูนย์ฯ

ร่วมกับคณะกรรมการอีกหลายชีวิต



พี่ทราย เป็นพี่สาวคนสวยของน้องๆชมรม
ทั้งจากจุฬาฯ และชมรมคาทอลิกมหาวิทยาลัยอื่นทั่วประเทศ

พี่ทราย เป็นคนที่พูดเพราะ เสียงหวาน ใจเย็น
เมื่อมีกิจกรรมอะไร ก็จะมีพี่ทรายคนนี้แล่ะ โทรบอกอยู่ตลอด

พี่ทราย เป็นคนที่ศรัทธามากๆ จนหลายๆคนสัมผัสได้
และบางครั้ง ยังยุยงส่งเสริมให้พี่ทรายเข้าอารามด้วยซ้ำ

พี่ทราย เป็นคนเรียบง่าย สมถะ ใส่กางเกงเลลายผ้าถุงกับเสื้อยืดเรียบๆ
มีผมยาวถึงเอว จนไปที่ไหนก็มีแต่คนทัก

พี่ทราย เป็นคนทำกิจกรรมมาก มีกิจกรรมที่ไหน เมื่อไหร่
ถ้าไม่ได้เห็นพี่ทราย กิจกรรมนั้นยังเริ่มไม่ได้ !!

พี่ทราย เป็นคนที่มีอุดมการณ์ พี่ทรายเลือกทำงานของพระกับเซเวียร์
ที่ให้ความสุขทางใจมากกว่างานอื่น

พี่ทราย เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ คุยได้ทุกเรื่อง แต่ไม่ใช่คนพูดมาก
พีี่ทรายรู้จักเลือกใช้คำพูด ทำให้ทุกคนฟัง

พี่ทราย เป็นคนที่รักชมรมมาก
และทุกคนในชมรมก็รักพี่ทรายมากเ่ช่นเดียวกัน

ถ้าจะมีใครสักคนในชมรมคาทอลิกจุฬา เป็นนักกิจกรรมดีเด่น

พี่ทรายคนนี้ ต้องโดดเด่นในบรรดานักกิจกรรมดีเด่นหลายๆคน แน่นอน !






[เรื่องเก่า] ประวัติชมรม



ประวัติชมรมศาสนศึกษา แผนกคาทอลิก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อปีพ.ศ. 2497 คณะนักบวชเยซูอิต ได้เข้ามาประจำในประเทศไทย

โดยมีจุดประสงค์

เพื่อเริ่มต้นสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย

ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในปัจจุบัน

(ภายหลังย้ายไปบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในปี 2501)

กระทั่งพ.ศ. 2499 เกิดการรวมตัวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาคาทอลิก

ในแต่ละมหาวิทยาลัยขึ้น

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการรวมกลุ่มเล็กๆ ของนิสิตคาทอลิกในรั้วจุฬาฯเมื่อปี 2499

พัฒนามาจนเป็นชมรมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2553)

ร่วม 50 กว่าปีแล้ว

แต่น่าอัศจรรย์ใจ ที่แม้ว่าประชากรไทยที่เป็นคาทอลิก มีเพียงร้อยละ 0.49

แต่ในรั้วจามจุรีแห่งนี้

ชมรมคาทอลิกก็มีสมาชิกสืบทอดงานของพระมาอย่างต่อเนื่อง

นับว่าเป็นพระพรพิเศษจริงๆ

สมาชิกชมรมหลายต่อหลายคน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ต่างประสบความสำเร็จในสังคม เป็นแบบอย่างของคริสตชนที่ดี

บ้างก็ได้รับกระแสเรียกนักบวช เป็นนักบวชของคณะต่างๆ



คณะเยซูอิตมีบทบาทสำคัญกับชมรมมาก

ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน มีคุณพ่อมหาร์โซโน โปรโบ เป็นจิตตาธิการ

ศูนย์กลางฯนี้ เป็นเครือข่ายของชมรมคาทอลิกในแต่ละสถาบันทั่วประเทศ

และมีการจัดกิจกรรมร่วมกันเสมอๆ


จิตตาธิการของชมรมคือ คุณพ่อวิทยา คู่วิรัตน์ อดีตอธิการบดีวิทยาลัยแสงธรรม

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส กุฎีจีน

คุณพ่อดูแลชมรมมานานหลายสิบปีแล้ว

ตั้งแต่สมัยคุณพ่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก

ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และยังคงดูแลอยู่จนถึงปัจจุบัน

สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม คือ อาจารย์ธำรงรุจน์ ฮุนตระกูล

จากภาควิชาการถ่ายภาพ คณะวิทยาศาสตร์


แม้ชมรมคาทอลิกจะเป็นชมรมเล็กๆของจุฬาฯ

เป็นจุดน้อยๆของพระศาสนจักร

แต่ก็คงเป็นเหมือนดอกไม้ดอกหนึ่งในสวนดอกไม้ที่สวยงาม

แม้จะไม่มีคุณค่ามากมาย

แต่การดำรงอยู่ของชมรมก็มีความหมาย

อย่างน้อย ก็สำหรับเจ้าของสวน

ที่รดน้ำและดูแลดอกไม้ดอกนี้มานานกวา่ครึ่งศตวรรษ